TRENDING: สทนช.-บพท.จับมือกันปั้นหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำ Read More

TRENDING: CKPower เดินหน้าส่งไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Read More

TRENDING: CKPower เผยปี 2567 กวาดรายได้ 10,789 ล้านบาท Read More

TRENDING: กทม. เตือนค่าฝุ่นกลับมาสูงอีกครั้ง 30 ม.ค. – 5 ก.พ. นี้ ย้ำงดเผา และ ร่วมจับตารถควันดำ Read More

TRENDING: Whoscall เปิดสถิติปี 2567 มิจฉาชีพหลอกข้อความ Read More

กรกฎาคม 20, 2023

ผู้ว่าธปท ห่วงการเมืองกระทบท่องเที่ยว

สรุปประเด็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพบสื่อมวลชน (Meet the Press)

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566
ธนาคารแห่งประเทศ
ไทย

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจการเงินโดยรวม และทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 66 ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดจะทยอยปรับดีขึ้นช่วงปลายปีนี้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยบ้าง แต่ ธปท. คาดว่าการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นที่ต่อเนื่องและมากกว่าคาดจะช่วยลดทอนผลกระทบนี้ได้ นอกจากนี้ ในระยะหลังเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากภาคบริการ และเน้นเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ทำให้อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของภูมิภาคและไทยมากเท่าในอดีต

เงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาปรับลดลงตามคาดจากผลของฐานสูงในปีก่อน และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าชั่วคราว แต่คาดว่าต่อไป หลังผลของฐานหมดลง เงินเฟ้อจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจาก 1) แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ และ 2) การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น หากกำลังการผลิตตึงตัวขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

            ในระยะต่อไป ธปท. ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) มากกว่าที่จะพิจารณาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นล่าสุด (data dependent) เพียงอย่างเดียว เพราะโดยปกติข้อมูลระยะสั้นมักผันผวน และขึ้นกับปัจจัยเฉพาะ หาก ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลเหล่านั้นเป็นหลัก จะสร้างความผันผวนให้เศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น อีกทั้งการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา การพิจารณา outlook จะทำให้การดำเนินนโยบายตอบสนองต่อบริบทเศรษฐกิจได้ทันการณ์

ทั้งนี้ ในบริบทที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้อแม้ล่าสุดปรับลดลงแต่ยังมีความเสี่ยงว่าจะทยอยปรับสูงขึ้นต่อไป การทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเข้าสู่ระดับที่ช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในระยะปานกลางจึงยังเหมาะสม (ถอนคันเร่ง แต่ไม่ได้เหยียบเบรก) โดยเป้าหมายของการดำเนินนโยบายยังเน้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่สะดุด โตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้อมีเสถียรภาพและอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การคำนึงถึงเรื่องการรักษา policy space เพื่อรองรับ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีความสำคัญมากขึ้น

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจควรให้น้ำหนักมากขึ้นกับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ทั้งเสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพการคลัง

สำหรับผลกระทบของสถานการณ์การเมืองต่อเศรษฐกิจ เบื้องต้น ธปท. ประเมินว่าจะไม่กระทบภาพรวมของเศรษฐกิจปีนี้มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนงบประจำยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างใกล้ชิดต่อไป

  • ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

ธปท. อยากเห็น Virtual Bank เป็นผู้เล่นประเภทใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับหรือเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพียงพอ และช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) อย่างเหมาะสม โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ดังนั้น จึงควรเริ่มจากจำนวนไม่มาก และต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิมและอยู่รอดได้ เพราะ Virtual Bank ทำธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชน หากไม่สามารถอยู่รอดจนต้องปิดกิจการไปจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในวงกว้างได้

การเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank จำนวนไม่เกิน 3 รายในระยะแรก ถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงแล้วเทียบกับจำนวน ธพ. ที่มีอยู่เดิมในระบบ หลายประเทศที่มีจำนวน ธพ. สูงกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้เพียง 3-5 รายเท่านั้น นอกจากนี้ การมี ธพ. จำนวนมากอาจไม่ได้ช่วยให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เพราะการกำหนดดอกเบี้ยของ ธพ. มักขึ้นกับความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นหลัก ในทางกลับกัน อาจทำให้การแข่งขันรุนแรงจนบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้และกระทบความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ หรือสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น เพิ่มการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย จนกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวและซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

สำหรับการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 5,000 ล้านบาทในช่วงแรก เพราะมุ่งหวังให้ Virtual Bank มีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับ ธพ. ดั้งเดิมได้ และสามารถรองรับผลประกอบการในช่วงปีแรก ๆ ที่อาจขาดทุนสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปีอย่างที่เคยเห็นในต่างประเทศ จากทั้งค่าใช้จ่ายการลงทุนในระบบงานดิจิทัลที่ค่อนข้างสูง ขณะที่รายได้ยังไม่มาก เพราะต้องใช้เวลาในการขยายฐานลูกค้า โดย Virtual Bank ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะทำกำไรได้ ขณะที่บางรายไม่สามารถอยู่รอดได้และต้องปิดตัวไปแม้มีทุนราว 3,000 – 5,000 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้าของการดำเนินการ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้ง (หลังรับฟังความเห็นจากสาธารณชน 2 ครั้งแล้ว) และคู่มือการสมัคร เพื่อนำส่งกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเห็น Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2568

  • สถานการณ์หนี้ครัวเรือน และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท.

ธปท. ประเมินว่าหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อรายย่อยจะทยอยปรับขึ้นบ้าง แต่จะไม่เกิด NPL Cliff เพราะสถาบันการเงิน (สง.) ยังเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ต่อเนื่อง และแม้มาตรการแก้หนี้ระยะยาวในช่วงโควิดจะมีถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น แต่ลูกหนี้ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ต่อไปตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับ สง. แล้ว อีกทั้งระบบ ธพ. ยังมี
ความมั่นคง และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้
นอกจากนี้ จากการประเมินข้อมูลของระบบ ธพ. พบว่า หนี้ค้างชำระ 1 – 3 เดือน (SM) ของสินเชื่อรายย่อย ไม่จำเป็นต้องไหลไปเป็น NPL ทั้งหมด โดยล่าสุดอัตราการไหลจากหนี้ชั้น SM เป็น NPL (migration rate) ของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถยนต์ 12% สินเชื่อบัตรเครดิต 57% และสินเชื่อ
ส่วนบุคคล 54% ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้า รวมถึงสัดส่วนหนี้ SM ที่ปรับกลับสู่หนี้ชั้นปกติของสินเชื่อหลายประเภทก็สูงกว่าที่กลายไปเป็น NPL

อย่างไรก็ดี ธปท. ไม่ได้ชะล่าใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดย
ที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ออกมาตรการปูพรมเพื่อช่วยเหลือ
คนในวงกว้างได้โดยเร็ว ก่อนปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุดหลังสถานการณ์เศรษฐกิจปรับดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง ทั้งนี้
ในปัจจุบันแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ยังมีลูกหนี้บางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า จึงปิดจบหนี้ไม่ได้ ธปท. จึงจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ก่อน คือ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อตลอดวงจรหนี้ ซึ่งตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ สง. ต้องเสนอขายผลิตภัณฑ์โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน เปรียบเทียบได้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ ณ จุดตัดสินใจการกู้เงิน และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ สง. ต้องเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนฟ้องหรือขายหนี้ ท้ายสุด หาก สง. จะฟ้องหรือโอนขายหนี้ ลูกหนี้ต้องรู้สิทธิ์และข้อมูลสำคัญครบถ้วน

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งของเกณฑ์ Responsible Lending คือ การกำหนดแนวทางให้เจ้าหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) หรือกลุ่มที่ยังจ่ายหนี้ได้ตามปกติ แต่ปิดจบหนี้ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ ทั้งนี้ ขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหมุนเวียน (revolving P-loan) ที่มีรายได้น้อยและจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยหากลูกหนี้เลือกเข้ามาตรการนี้ (opt-in) สง. จะแปลงหนี้เดิมเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) และต้องปิดจบหนี้ภายใน 5 ปีด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี โดย ธปท. จะออก consultation paper ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และจะบังคับใช้เกณฑ์ Responsible Lending และ persistent debt ในวันที่ 1 ม.ค. 67 และ 1 เม.ย. 67 ตามลำดับ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวคงยังไม่ได้ช่วยให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงได้อย่างเบ็ดเสร็จและในทันที แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของมาตรการในภาพรวมที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดย ธปท. จะแถลงรายละเอียดของมาตรการเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 21 ก.ค. 66 นี้

  • ประเด็นอื่น

มองไปข้างหน้า การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยควรมาจากการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา การลงทุนของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และล่าสุดแทบไม่ต่างจากระดับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40 ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่าปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ส่วนหนึ่งเพราะการขาดหลักประกันในการกู้ยืม มีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนโตไม่สูงนัก แนวทางหนึ่งในการแก้ไขจึงควรเร่งสร้างกลไกค้ำประกันความเสี่ยงการกู้ยืมโดยภาครัฐ (credit guarantee mechanism) ที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ สง. รับความเสี่ยงและกล้าที่จะปล่อยกู้สินเชื่อให้ SMEs ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจการเงินต่อไป