ศบค.ออกอินโฟกราฟิกเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างล็อกดาวน์กับไม่ล็อกดาวน์ หลังนายกฯ นำทีมอาจารย์แพทย์แถลงยันไม่ล็อกดาวน์กทม. ชี้ล็อกดาวน์อาจเป็นการจุดชนวนปัญหาให้มากขึ้นหรือไม่?
เฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เผยแพร่ข้อมูลอินโฟกราฟิกเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการล็อกดาวน์และไม่ล็อกดาวน์พื้นที่ โดยระบุว่า “ล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ ต้องพิจารณาปัญหารอบด้าน ล็อกดาวน์ไม่ได้แก้ปัญหา แต่อาจจะเป็นการจุดชนวนปัญหาให้มากขึ้นหรือไม่”
นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบข้อมูลให้เห็นว่า การล็อกดาวน์ อาจต้องปิดกิจการกิจกรรม ทำให้คนตกงาน เดินทางกลับบ้าน ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ขณะที่การล็อกเฉพาะจุด 1.เป็นการปิดพื้นที่เสี่ยงสูง 2.ปิดเฉพาะบุคคล 3.ปิดกิจกรรมเสี่ยง
การเผยแพร่ข้อมูลนี้มีขึ้นหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นำทีมคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแพทย์ชื่อดังหลายแห่ง ออกมาแถลงข่าว ยืนยันว่าจะไม่ล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การล็อกดาวน์จะทำให้เกิดผลกระทบและเกิดการตื่นตระหนกมาก จึงตัดสินใจให้ปิดเฉพาะจุด คือ แคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเวลา 1 เดือน
โดยจะปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายทั้งคนไทยและคนต่างด้าว เพราะแคมป์คนงาน เป็นสถานที่ที่พิสูจน์ทราบแล้วว่า เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก เพื่อระงับการแพร่ระบาด โดยจะปิดเฉพาะแคมป์คนงานที่มีปัญหา และจะเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดด้วย ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายในช่วงที่ปิด 1 เดือน โดยให้กระทรวงแรงงานวางมาตรการเยียวยาช่วงที่ไม่ได้ทำงานด้วย
“คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าเป็นกิจการเป็นพื้นที่ เป็นคลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ มาตรการการจำกัดการเคลื่อนย้ายของคนอย่างเหมาะสม ทุกจังหวัดมีมาตรการควบคุมอยู่แล้ว สิ่งสำคัญไม่อยากให้เคลื่อนย้ายก็ต้องขอร้องกัน การไปมาต่างๆ ให้ลดน้อยลงไปบ้าง โดยเฉพาะสถานที่สุ่มเสี่ยง”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรการที่ออกมาไม่ได้เรียกล็อกดาวน์ แต่เป็นมาตรการควบคุมโรคเฉพาะกลุ่ม หากพูดคำว่าล็อกดาวน์จะสร้างความตกใจไปหมด ส่วนมาตรการเยียวยาเหมือนปีที่แล้วจะนำมาทบทวนดูตรงเป้าหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องลดการเคลื่อนย้ายเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย